วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2554

ทฤษฏีสู่การปฎิบัติ :ตัวอย่างการประเมินโครงการ

                    การใช้การศึกษาเพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาศักยภาพของคน ให้มุ่งสู่คุณลักษณะที่สังคมพึงประสงค์ จึงจำเป็นต้องใช้การศึกษาที่มีคุณภาพ มีกลไกการรักษาคุณภาพและยกระดับมาตรฐานคุณภาพอย่างต่อเนื่อง แต่โดยภาพรวมแล้ว คุณภาพการจัดการศึกษาของไทยยังคงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่า มาตรฐานคุณภาพของผู้เรียนยังไม่เป็นที่พึงพอใจของสังคม ซึ่งสภาพดังกล่าวมีสาเหตุสำคัญ ๆ หลายประการด้วยกัน แต่สาเหตุหนึ่งมาจากการที่ยังไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องการประเมินคุณภาพการจัดการศึกษา ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพอย่างเพียงพอ และต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามมาตรการที่เป็นทางออกของปัญหาดังกล่าว คือ การประกันคุณภาพการศึกษา ซึ่งโดยระบบได้กำหนดให้มีกลไกการประเมิน ทั้งประเมินเพื่อตรวจสอบ ทบทวนและปรับปรุงคุณภาพการศึกษา (Internal Quality and Intervention) และการประเมิน เพื่อให้ได้การรับรองคุณภาพการศึกษา (Quality Accreditation)                
                    พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๔๒ มาตรา ๔๗  กำหนดให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาและมาตรฐานการศึกษาทุกระดับประกอบด้วยระบบประกันคุณภาพภายในและระบบประกันคุณภาพภายนอก และมาตรา ๔๘ กำหนดให้หน่วยงานต้นสังกัดและสถานศึกษาจัดให้มีระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาและให้ถือว่า การประกันคุณภาพภายในเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารการศึกษาที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดยมีการจัดทำรายงานประจำปี เสนอต่อหน่วยงานต้นสังกัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเผยแพร่ต่อสาธารณชน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาเพื่อรองรับการประกันคุณภาพภายนอก
                   ดังนั้น แนวทางการประเมินโครงการภายในของสถานศึกษาเพื่อประกันคุณภาพการศึกษา จึงเป็นสิ่งที่สถานศึกษาจะต้องนำไปดำเนินการเพื่อเป็นการตรวจสอบคุณภาพของสถานศึกษาว่าดำเนินการพัฒนาเป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพที่กำหนดแล้วหรือไม่ หากพบว่ายังไม่เป็นไปตามมาตรฐานก็จะนำไปสู่การส่งเสริม ปรับปรุงแก้ไขอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งได้คุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานและได้ผ่านการรับรองคุณภาพการศึกษาจากหน่วยงานที่ทำหน้าที่รับรองต่อไป
                    กรอปกับสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพภายนอก (สมศ.) องค์การมหาชน ได้เข้ามาดำเนินการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสองของ กศน.อำเภอ/เขต ในรอบปีงบประมาณ ๒๕๕๑ ๒๕๕๓ จำนวน ๙๐๒ แห่ง ผลการประเมิน กศน.อำเภอ/เขต ได้รับการรับรองคุณภาพการศึกษา จำนวน ๘๓๘ แห่ง (ร้อยละ ๙๒.๙๐) และไม่ได้รับการรับรองคุณภาพการศึกษา จำนวน ๖๔ แห่ง (ร้อยละ ๗.๑๐) สำนักงาน กศน.ได้นำผลการประเมินคุณภาพภายนอกของ กศน.อำเภอ/เขต จำนวน ๙๐๒ แห่ง ของ สมศ.มาสังเคราะห์ จากการสังเคราะห์ พบว่า สถานศึกษาส่วนใหญ่มีการจัดทำโครงการต่างๆ เพราะเชื่อว่าโครงการด้านการศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารงานการศึกษาและพัฒนาการศึกษา และมอบหมาย ให้ครู กศน.ดูแลรับผิดชอบแต่จากการรายงานผลการดำเนินกับ พบว่า สถานศึกษายังมีปัญหาและอุปสรรคในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะ ครู กศน. บางส่วนยังขาดทักษะความรู้ความเข้าใจในการจัดกิจกรรม กศน.  ในพื้นที่ ขาดทักษะในการประเมินผลโครงการ ขาดความต่อเนื่องของการกำกับ ติดตาม การรายงานผลการดำเนินงานเนื่องจากไม่มีความรู้ในการประเมินผลโครงการตามหลักวิชาการทำให้ข้อมูลที่มา ที่ไป ขาดความน่าเชื่อถือ หรือมีการประเมินโครงการแต่ไม่ครอบคลุมทุกงาน สถานศึกษากำหนด เป้าหมาย วัตถุประสงค์ ไม่ชัดเจนและเครื่องมือการประเมินผลไม่สอดรับกับเป้าหมาย วัตถุประสงค์ ที่กำหนด ส่งผลให้ไม่สามารถนำผลการดำเนินงานไปเปรียบเทียบกับเป้าหมายจึงไม่สามรถสรุปผลการดำเนินงานบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดหรือไม่ ด้วยเหตุผล ทำให้สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ตระหนักและเห็นความสำคัญของการการพัฒนา คน ในองค์กรให้ได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประเมินโครงการ และการเขียนรายงานเพื่อให้ได้ข้อมูล และใช้ข้อมูลในการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล ว่าควรดำเนินการต่อหรือปรับพัฒนาให้มีคุณภาพต่อไป
                            กลุ่มงานประกันคุณภาพ ของกลุ่มพัฒนาการศึกษานอกโรงเรียน ได้ศึกษา รวบรวม ข้อมูล และองค์ความรู้ต่างๆ ของการประชุม และองค์ความรู้ของวิทยากร จากประชุมปฏิบัติการจัดทำเครื่องมือประเมินรายมาตรฐาน ตัวบ่งชี้ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ระหว่างวันที่ ๒๒-๒๕ กุมภาพันธ์  ๒๕๕๔   ณ โรงแรม   ริเวอร์ วิว เพลส จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จัดทำเป็นเอกสาร “ทฤษฎีสู่การปฏิบัติ : ตัวอย่างการประเมินโครงการ” เพื่อเผยแพร่ให้กับบุคลากร กศน. และ สถานศึกษาในสังกัดใช้เป็นแนวทาง การดำเนินงานการประเมินโครงการของสถานศึกษาต่อไป